ชีวิตหลังเผยแพร่ผลงาน ของ เกออร์ค ซีม็อน โอห์ม

ผลงานของโอห์มได้รับการเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1827 แต่ปรากฏว่าแทนที่ผลงานของเขาจะได้รับการยกย่อง กลับถูกต่อต้านเป็นอย่างมากจากชาวเยอรมันเนื่องจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำให้ในระหว่างนี้โอห์มได้รับความลำบาก เพราะรัฐมนตรีการศึกษาของเยอรมนีได้พิจารณาว่า เขามีความรู้ขั้นปริญญาเอกแต่ผลิตผลงานที่ไม่มีประโยชน์แก่การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย จะนับได้ว่าเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โชคร้ายที่สุดในรอบคริสต์ศวรรษที่ 18

เมื่อถูกไล่ออกจากงาน โอห์มจึงไปสมัครเป็นอาจารย์ช่วยสอนอยู่ตามโรงเรียน แต่ก็ยังถูกโจมตีอย่างรุนแรง เขาต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากอยู่เป็นเวลานานถึง 6 ปีเต็ม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1833 พระเจ้าลูทวิชที่ 1 แห่งบาวาเรีย ซึ่งเห็นความสามารถของโอห์มได้ช่วยเหลือให้เขาได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนสารพัดช่างเนือร์นแบร์ค เขาได้ทำงานอยู่ที่นั่นเรื่อยมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1849 ถึงแม้ในระหว่างปี ค.ศ. 1835 เขาจะได้รับเชิญไปดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าในมหาวิทยาลัยเดิมที่แอร์ลังเงิน โอห์มไม่คิดจะหวนกลับไปอีก เพราะทนในความอับอายไม่ได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1849 นั้นเอง โอห์มก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก และโอห์มได้ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จนตลอดชีวิตของเขา

ในขณะที่เขาทำงานอยู่ที่เนือร์นแบร์คหรือมิวนิก นอกจากนี้จะทำงานด้านการสอนหนักแล้ว โอห์มยังทำงานด้านการค้นคว้าทดลองและพิมพ์ผลงานออกเผยแพร่อยู่เสมอ ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของโอห์มก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับการควบคุมเสียงในอาคารให้สามารถฟังได้ชัดเจน และเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นการบุกเบิกทางให้แก่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ แฮร์มัน ฟ็อน เฮ็ล์มฮ็อลทซ์ ที่ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องคลื่นเสียง นอกจากนี้โอห์มยังค้นคว้าเกี่ยวกับ Molecular Physics และผลงานชิ้นสุดท้ายที่เขาจัดพิมพ์ขึ้นที่มิวนิก เมื่อ ค.ศ. 1852 และเมื่อ ค.ศ. 1853 คือการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องแสงที่เกิดขึ้นแถบขั้วโลก ที่เรียกกันว่าแสงเหนือและแสงใต้ แต่โอห์มก็ได้พบกับความโชคร้ายอีกเช่นเคย เพราะโอห์มไม่ทราบมาก่อนเลยว่าผลงานชิ้นนี้ของเขา มีนักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์ที่ชื่อว่า คริสเตียน บีร์เคอลัน (Kristian Birkeland) เป็นผู้ค้นพบก่อน ผลงานของโอห์มชิ้นนี้จึงไม่ได้รับความสนใจ

แม้ว่าโอห์มจะไม่ได้รับการยกย่องในบ้านเกิดเมืองนอนของเขา แต่ผลงานของโอห์มกลับได้รับความยกย่องในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่นในฝรั่งเศสและอังกฤษ ในประเทศฝรั่งเศสถึงกับมีการสาธิตผลงานเรื่องกฎของโอห์มตั้งแต่ ค.ศ. 1831 ถึง ค.ศ. 1837 ส่วนในอังกฤษ ราชสมาคมแห่งลอนดอนได้มอบเหรียญรางวัลค็อปลีย์ (Copley Medal) ให้แก่เขาในปี ค.ศ. 1841 ในฐานะที่เขาเป็นคนแรกที่ค้นพบกฎซึ่งมีสาระสำคัญอย่างยิ่งต่อวิชาไฟฟ้ากระแส และในปี ค.ศ. 1842 โอห์มก็รับเกียรติยศอันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะทางราชสมาคมแห่งลอนดอนได้คัดเลือกให้โอห์มเป็นสมาชิกชาวต่างประเทศที่มีความสามารถดีเด่นที่สุด

ใกล้เคียง

เกออร์ค ซีม็อน โอห์ม เกออร์ค ฟรีดริช เจ้าชายแห่งปรัสเซีย เกออร์ค วิลเฮ็ล์ม ฟรีดริช เฮเกิล เกออร์ค คันทอร์ เกออร์ค วิททิช เกออร์ค ฟ็อน แฮร์ทลิง เกออร์ค ฟ็อน ฮาพส์บวร์ค เกออร์ค ฟ็อน คึชเลอร์ เกออร์ค วิลเฮ็ล์ม ชเต็ลเลอร์ เกออร์ค คริสท็อฟ ลิชเทินแบร์ค